วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Jurisdiction : Contiguous Zone

เขตอำนาจ : เขตต่อเนื่อง

พื้นที่นอกน่านน้ำอาณาเขตที่รัฐชายฝั่งยังคงมีอิสระที่จะไปบังคับให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายของตนได้ ขอบเขตของเขตต่อเนื่องและเขตอำนาจของรัฐชายฝั่งมีการนิยามไว้ในข้อ 24 ของอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (ค.ศ. 1958) ความว่าดังนี้ : “(1) ในเขตทะเลหลวงซึ่งต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของตน รัฐชายฝั่งอาจดำเนินการควบคุมตามที่จำเป็นเพื่อ (ก) ป้องกันการละเมิดข้อบังคับเกี่ยวกับการศุลกากร รัษฎากร การเข้าเมือง หรือการอนามัย ภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของตน และ (ข) ลงโทษการละเมิดข้อบังคับข้างต้นซึ่งได้กระทำภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของตน และ (2) เขตต่อเนื่องมิอาจจะขยายเกินกว่าสิบสองไมล์นับจากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต


ความสำคัญ แนวความคิดเรื่องเขตต่อเนื่องบ่งบอกถึงความมีอยู่ของพื้นที่พิเศษแห่งหนึ่งของทะเลหลวงที่รัฐชายฝั่งไม่อาจอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือได้ แต่เป็นที่ซึ่งอาจใช้เขตอำนาจเพื่อวัตถุประสงค์ที่จำกัดบางอย่างได้ เช่น เพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการศุลกากร เป็นต้น ทุกรัฐต่างให้การรับรองว่ารัฐชายฝั่งมีเขตอำนาจเหนือน่านน้ำอาณาเขตอย่างน้อยสามไมล์ แต่นอกเหนือจากน่านน้ำอาณาเขตนี้แล้ว ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสามารถตกลงกันไม่ค่อยจะได้เกี่ยวกับขอบเขตของเขตอำนาจของแต่ละรัฐ รัฐต่าง ๆ ก็จึงอ้างเขตอำนาจที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาอ้างสิทธิ์ตามประเพณีนิยมที่จะขยายเขตอำนาจที่จำกัดนี้ไปถึงเขตเกินสิบสองไมล์จากชายฝั่งทะเลของตน อย่างไรก็ตามแนวความคิดในเรื่องเขตต่อเนื่องนี้ในที่สุดก็ได้รับการยอมรับในการอภิปรายของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (ไอแอลซี) และในที่ประชุมเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศในปี ค.ศ. 1964
สำหรับประเทศผู้ลงนามที่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเข

Jurisdiction , Domestic

เขตอำนาจภายในของรัฐ

กิจการดำเนินชีวิตภายในของรัฐที่ถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยกฎหมายภายในของรัฐ จะไม่ยอมให้กฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาควบคุมได้ เขตอำนาจภายในของรัฐก็จึงเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของอำนาจอธิปไตยของชาติ ในข้อ 2 ของกฎบัตรสหประชาชาติได้กำหนดไว้ว่าไม่มีข้อความใดในกฎบัตรปัจจุบันจะให้อำนาจสหประชาชาติเข้าแทรกแซงในเรื่องโดยสาระสำคัญแล้วตกอยู่ในเขตอำนาจภายในของรัฐ หรือจะเรียกร้องสมาชิกให้ต้องเสนอเรื่องเช่นว่าเพื่อจัดระงับตามกฎบัตรปัจจุบัน

ความสำคัญ จากแนวความคิดเรื่องเขตอำนาจภายในของรัฐนี้ เป็นการบ่งบอกว่า กฎหมายระหว่างประเทศมิได้เป็นกฎหมายสากล หากแต่เป็นกฎหมายที่มีข้อจำกัดในการใช้เฉพาะกับเรื่องต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับโดยรัฐอธิปไตยทั้งหลายที่ประกอบเป็นประชาคมระหว่างประเทศเท่านั้น ในการกำหนดเขตแดนระหว่างเขตอำนาจภายในของรัฐกับเขตอำนาจระหว่างประเทศ ก็จะเกิดปัญหาในเรื่องการตีความ ปัญหาที่ยากจะตกลงกันได้อย่างหนึ่ง ก็คือ ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องปัญหาการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง ในกรณีที่สหรัฐอเมริกาให้การยอมรับเขตอำนาจโดยการบังคับของศาลยุติธรรม ระหว่างประเทศนั้น ปัญหาทางปฏิบัติที่ว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าอะไรคือเขตอำนาจภายในของรัฐนั้น ได้ถูกกำหนดไว้โดยคอนแนลลี อะเมนด์เม้นท์ ว่าให้รัฐชาติภายในเองเป็นฝ่ายตัดสินในเรื่องนี้

Jurisdiction :Extradition

เขตอำนาจ : การส่งผู้ร้ายข้ามแดน

วิธีดำเนินการให้มีการส่งมอบผู้หลบหนีคดีอาญาข้ามรัฐที่พบตัวในรัฐหนึ่งให้แก่รัฐที่การละเมิดกฎหมายบังเกิดขึ้น การส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะเริ่มต้นด้วยการเรียกร้องอย่างเป็นทางการจากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง และจะเป็นไปตามพันธกรณีตามที่ได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐ

ความสำคัญ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหนึ่งจะเข้าไปจับกุมผู้หลบหนีคดีอาญาข้ามรัฐไปอยู่ในเขตอำนาจของอีกรัฐหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐหลังนั้น ถือว่าเป็นการละเมิดเอกราชและอธิปไตยอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีผลประโยชน์ร่วมกันในการใช้ความยุติธรรมและในการรักษาความสงบสงบเรียบร้อยนี้ ก็จึงทำให้รัฐต่าง ๆ ให้ความร่วมมือในการส่งมอบผู้หลบหนีคดีอาญาข้ามรัฐระหว่างกัน ความร่วมมือดังกล่าวจะอิงอาศัยรากฐานของข้อตกลงที่ร่างอย่างพิถีพิถัน โดยจะมีการกำหนดเงื่อนไขและรายการความผิดต่าง ๆ ที่จะให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน แต่โดยปกติแล้วอาชญากรรมทางการเมืองจะไม่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นความผิดที่จะให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน และรัฐต่าง ๆ ก็จะไม่ยอมส่งมอบพลเมืองของตนให้ไปรับการพิจารณาคดีในรัฐอื่น การส่งผู้ร้ายข้ามแดนส่วนใหญ่จะดำเนินการให้เป็นไปตามสนธิสัญญาระดับทวิภาคี ซึ่งจะก่อให้เกิดเครือข่ายของกฎหมายที่ยุ่งเหยิงสลับซับซ้อนที่ทำให้ง่ายได้ยาก จนกว่ารัฐจะตกลงยึดกฎเกณฑ์ในรูปแบบเดียวกันได้แล้วเท่านั้น

Jurisdiction : Extratersitoialtiy

เขตอำนาจ : สภาพนอกอาณาเขต

การที่รัฐหนึ่งใช้เขตอำนาจของตนในดินแดนของอีกรัฐหนึ่ง สภาพนอกอาณาเขตจะถูกกำหนดโดยสนธิสัญญา ซึ่งจะมีการระบุถึงบุคคล สาระ และระดับที่เขตอำนาจในท้องถิ่นไม่สามารถนำมาใช้กับพลเมืองของคู่สนธิสัญญาได้ สภาพนอกอาณาเขตเคยมีตัวอย่างมาตั้งแต่ในสมัยก่อนที่จะมีระบบรัฐในปัจจุบันนี้แล้ว การให้สิทธิพิเศษในแบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า แคปปิตุเลชั่นเป็นสภาพนอกอาณาเขตรูปแบบหนึ่ง ที่กำหนดให้สิทธิพิเศษบางอย่างแก่ชาวคริสต์ในประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของชาวมุสลิม

ความสำคัญ สภาพนอกอาณาเขตนี้ ข้างรัฐที่มีอำนาจมากมักจะนำไปใช้กับรัฐที่อ่อนแอในระหว่างยุคจักรวรรดินิยม และยุคล่าอาณานิคมตะวันตก วัตถุประสงค์ของสภาพนอกอาณาเขต ก็คือ เพื่อปกป้องพลเมืองของรัฐที่มีอำนาจมากในที่ซึ่งวัฒนธรรมและระบบกฎหมายของทั้งสองรัฐมีความแตกต่างกันมาก ๆ เช่น ระหว่างหมู่ประเทศตะวันตกกับหมู่ประเทศในตะวันออกใกล้และตะวันออกไกล มีบ่อยครั้งที่สภาพนอกอาณาเขตนี้มีความหมายว่า ชาวต่างชาติที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาถูกพิจารณาดคีภายใต้กฎหมาย และคณะลูกขุนของชาติตนยิ่งกว่าจะให้พิจารณาคดีโดยใช้กฎหมายของสถานที่นั้น สนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งโดยปกติจะไม่ใช่สนธิสัญญาต่างตอบแทน ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงว่ามีลักษณะไปจำกัดอำนาจอธิปไตยที่ไม่เท่าเทียมกันจนเดี๋ยวได้สูญหายไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตามสภาพนอกอาณาเขตในความหมายพิเศษยังคงมีอยู่ในกรณีของนักการทูต คือ พวกนักการทูตจะปลอดพ้นจากกระบวนการทางกฎหมายในประเทศเจ้าบ้านที่ตนไปประจำอยู่นั้น และในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาว่าด้วย สถานภาพของกองกำลังที่ให้สิทธิและหน้าที่แก่กองทัพของประเทศหนึ่งที่เข้าไปตั้งอยู่ในดินแดนของอีกประเทศหนึ่ง

Jurisdiction :High Seas

เขตอำนาจ : ทะเลหลวง

มหาสมุทร ทะเล ทะเลสาขา อ่าวเล็ก อ่าวใหญ่ ทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งอยู่ภายนอกน่านน้ำอาณาเขตของรัฐชายฝั่งทะเลหลวง เปิดให้แก่ทุกประเทศได้ใช้ประโยชน์ทางด้านการพาณิชย์และการเดินเรือ รัฐอาจจะขยายเขตอำนาจไปยังเรือที่ชักธงของตนในทะเลหลวงได้ แต่จะขยายเขตอำนาจไปยังทะเลหลวงโดยตรงไม่ได้

ความสำคัญ ภายใต้อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยทะเลหลวงปี ค.ศ. 1958 ได้กำหนดไว้ว่าไม่มีรัฐใดอาจอ้างสิทธิที่จะทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของทะเลหลวงตกอยู่ในอธิปไตยของตนได้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศนั้น ทุกรัฐมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะเข้าไปใช้ทะเลหลวงทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น (1) ในการประมง (2) ในการวางสายและท่อใต้น้ำ และ (3) ในการใช้เครื่องบินบินเหนือ อย่างไรก็ตามในการใช้เสรีภาพในทะเลหลวงของรัฐต่าง ๆ มีเงื่อนไขทั่วไปกำหนดไว้ว่ารัฐจะต้องใช้โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐอื่นที่ใช้เสรีภาพแห่งทะเลหลวงนั้นด้วย

Jurisdiction : Hot Pursuit

เขตอำนาจ : การไล่ตามติดพัน

หลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ยินยอมให้ไล่ติดตามเรือหรือเครื่องบินที่สงสัยว่าฝ่าฝืนกฎหมายภายในในเขตอำนาจเหนือดินแดนภายในของรัฐ เข้าไปในทะเลหลวงหรือเหนือทะเลหลวงได้ กฎหมายระหว่างประเทศบัญญัติไว้ว่า การไล่ติดพันจะต้อง (1) เริ่มในเขตอำนาจของรัฐผู้เสียหาย (2) ดำเนินการไล่ติดตามโดยเรือรบหรือเครื่องบินรบขององค์อธิปัตย์เหนือดินแดนนั้น (3) ดำเนินไปจนกระทั่งสามารถจับกุมเรือที่ถูกไล่ตามนั้นได้ หรือ (4) สิ้นสุดลงเมื่อเรือซึ่งถูกไล่ติดตามนั้นเข้าสู่น่านน้ำอาณาเขตของรัฐอื่น

ความสำคัญ แนวความคิดเรื่องการไล่ตามติดพันนี้ บ่งบอกให้เราได้เห็นว่า เรือที่ละเมิดกฎหมายภายในของรัฐแล้วไม่สามารถรอดพ้นจากผลการกระทำของตนเพียงแต่หนีออกจากพื้นที่ที่กระทำผิดเข้าไปในทะเลหลวง ซึ่งโดยกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ว่าไม่ได้เป็นของรัฐใด แต่หากการสงสัยของรัฐผู้จับกุมสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่มีมูล รัฐผู้จับกุมนั้นก็จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย หลักการนี้ในกฎหมายระหว่างประเทศเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องมีไว้เพื่อจะได้สามารถใช้เขตอำนาจเหนือดินแดนได้อย่างมีประสิทธิผล

Jurisdiction : Innocent Passage

เขตอำนาจ : การผ่านโดยสุจริต

สิทธิของเรือต่างชาติที่จะสัญจรผ่านน่านน้ำอาณาเขตของรัฐอื่นโดยปราศจากการแทรกแซงขององค์อธิปัตย์ชายฝั่ง การผ่านโดยบริสุทธิ์นี้ให้หมายรวมไปถึงการหยุดและการทอดสมอแต่เฉพาะเท่าที่การหยุดและการทอดสมอนั้นอาจเกิดมีขึ้นในการเดินเรือปกติ หรือกระทำโดยความจำเป็นอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย หรือทุกขภัย

ความสำคัญ การผ่านจะเป็นไปโดยบริสุทธิ์โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อสันติภาพ ความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของรัฐชายฝั่ง ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศมีข้อกำหนดว่า เรือที่ผ่านโดยบริสุทธิ์นั้นจะต้องอยู่ในบังคับของหลักเกณฑ์ปกติของการขนส่ง และการเดินเรือ กับหลักเกณฑ์ขององค์อธิปัตย์ชายฝั่ง ในทางกลับกันนั้นเรือของทุกรัฐย่อมได้รับผลประโยชน์จากการใช้เส้นทางที่ สะดวกที่สุด ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันนี้ อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่องปี ค.ศ. 1959 ได้ให้การรับรองสิทธิ์การผ่านโดยบริสุทธิ์ของเรือรบ แต่สหภาพโซเวียตและพันธมิตรในยุโรปตะวันออกหลายประเทศ มีข้อสงวนสิทธิ์ว่า เรือรบต่างชาติต้องได้รับการมอบอำนาจเสียก่อนจึงจะยอมอนุญาตให้ผ่านไปได้

บทความที่ได้รับความนิยม