วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Adjudication : การพิจารณาของศาล



การพิจารณาของศาล (Adjudication) คือ เทคนิควิธีทางกฎหมายเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยนำไปให้ศาลที่ได้จัดตั้งไว้แล้วทำการพิจารณาตัดสิน

การพิจารณาของศาลนี้มีข้อแตกต่างจากการอนุญาโตตุลาการ กล่าวคือ การพิจารณาของศาลจะมีกระบวนการที่เป็นแบบเป็นแผนดำเนินการโดยศาลถาวร ส่วนการอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นวิธีปฏิบัติเฉพาะกิจ

ศาลระหว่างประเทศที่มีอำนาจทั่วไปแห่งแรก ก็คือ ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ (Permanent Court of International Justice=PCIJ) ซึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบสันนิบาตชาติ (League of Nations)นับตั้งแต่ ค.ศ. 1920 จวบจนกระทั่งสันนิบาตชาติเลิกล้มเมื่อปี ค.ศ 1946

ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศได้รับการสานต่องานโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ((International Court of Justice=ICJ ) ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของสหประชาชาติ(United Nations)

ความสำคัญ การพิจารณาของศาลได้ถูกนำมาใช้ไม่มากนักเพื่อระงับข้อพิพาท และจะมีประสิทธิผลมากเมื่อใช้ระงับข้อพิพาทที่มีความสำคัญไม่มาก

ผู้ที่ให้การสนับสนุนวิธีการพิจารณาของศาลนี้ ได้กล่าวถึงข้อดีของวิธีนี้ว่าศาลสามารถให้คำตอบแก่ปัญหาระหว่างประเทศได้ทุกปัญหา และหากใช้วิธีการนี้จะสามารถระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามรัฐต่าง ๆ ก็ยังลังเลใจที่จะใช้วิธีการพิจารณาของศาลนี้ เพราะการนำคดีไปให้ศาลระหว่างประเทศพิจารณานั้น ตนจะต้องตกลงเป็นการล่วงหน้าว่าจะผูกพันกับข้อคำตัดสินใด ๆ ของศาล ซึ่งอาจจะมีอันตรายต่อผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งของตนได้


ด้วยเหตุที่หลักการแห่งอำนาจอธิปไตยมีความหมายว่ารัฐไม่สามารถจะถูกบังคับให้ไปขึ้นศาลโดยฝืนเจตนารมณ์ของรัฐได้ ดังนั้นรัฐที่ตกเป็นจำเลยมักจะไม่อยากนำคดีไปให้ศาลพิจารณา


อย่างไรก็ตามวิธีการพิจารณาของศาลนี้มีข้อดี คือ ทำให้ไม่เกิดปัญหาเสื่อมเสียเกียรติภูมิของชาติ ทั้งนี้เพราะรัฐที่ยอมรับคำตัดสินของศาลนั้นถือว่าให้การสนับสนุนหลักการบังคับแห่งกฎหมายยิ่งกว่าจะเป็นการสยบจากแรงกดดันของรัฐอื่น


การพิจารณาของศาลอันเป็นเครื่องมือระงับข้อพิพาทอย่างหนึ่งนี้อ่อนกำลังลงในยุคปัจจุบันเนื่องจาก:
1) การพัฒนาเชิงปฏิวัติในเทคโนโลยี
2) ความขัดแย้งระหว่างตะวันออกกับตะวันตก
3) การเกิดขึ้นของรัฐและระบอบการปกครองใหม่ ๆ ที่ปฏิเสธแนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศของฝ่ายตะวันตกที่มีมาแต่เดิมหลายอย่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม