วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Jus Naturale : จัส เนเจอราล

จัส เนเจอราล (Jus Naturale) คือ  แนวความคิดของพวกสโตอิกกรีก (Greek Stoic)ว่าด้วยหลักการที่ควรนำมาใช้ควบคุมความประพฤติของมนุษย์ทั้งปวงที่พวกโรมันได้นำมาปรับใช้

จัส เนเจอราล หรือ กฎธรรมชาติ (Natural Law)ได้ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายธรรมชาติของมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่มีเหตุผลและชอบเข้ารวมกลุ่มเป็นสังคม

หลักเกณฑ์ของเหตุผลอยู่บนรากฐานของสิ่งที่ควรจะเป็น เมื่อผสมผสานกับหลักสากลนิยมของ จัส เจนติอุม(Jus Gentium) แล้ว ทำให้กฎหมายของโรมันมีลักษณะสามารถปรับใช้และมีความก้าวหน้าไม่หยุดอยู่กับที่ ช่วยให้ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกันโดยสงบสุขได้แม้ว่าเงื่อนไขจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็ตาม

ความสำคัญ  แนวความคิดของ จัส เนเจอราล ที่อิงอาศัยเหตุผลและอยู่เหนือพลเมืองและรัฐนี้ ได้มีอิทธิพลต่อครอติอุส (Grotius)และนักกฎหมายระหว่างประเทศยุคต้น ๆ ที่พยายามจะจัดตั้งระบบความสัมพันธ์ที่เรียบร้อยระหว่างรัฐ

หลักการของกฎธรรมชาติที่ยังมีหลักฐานปรากฏให้เห็นในกฎหมายระหว่างประเทศ ก็คือ แนวความคิดเรื่องศีลธรรมระหว่างประเทศ เรื่องความเสมอภาค เรื่องความยุติธรรมและเรื่องเหตุผล

กฎหมายระหว่างประเทศที่ยึดแนวความคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาตินี้ ต่อมาได้ถูกแทนที่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยผู้สนับสนุนลัทธิปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย (Legal Positivism)ซึ่งถือว่าจารีตประเพณี การตรากฎหมายและสนธิสัญญาเท่านั้นจึงจะสร้างสิทธิและหน้าที่ให้แก่รัฐที่มีอธิปไตยได้

Adjudication : การพิจารณาของศาล



การพิจารณาของศาล (Adjudication) คือ เทคนิควิธีทางกฎหมายเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยนำไปให้ศาลที่ได้จัดตั้งไว้แล้วทำการพิจารณาตัดสิน

การพิจารณาของศาลนี้มีข้อแตกต่างจากการอนุญาโตตุลาการ กล่าวคือ การพิจารณาของศาลจะมีกระบวนการที่เป็นแบบเป็นแผนดำเนินการโดยศาลถาวร ส่วนการอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นวิธีปฏิบัติเฉพาะกิจ

ศาลระหว่างประเทศที่มีอำนาจทั่วไปแห่งแรก ก็คือ ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ (Permanent Court of International Justice=PCIJ) ซึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบสันนิบาตชาติ (League of Nations)นับตั้งแต่ ค.ศ. 1920 จวบจนกระทั่งสันนิบาตชาติเลิกล้มเมื่อปี ค.ศ 1946

ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศได้รับการสานต่องานโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ((International Court of Justice=ICJ ) ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของสหประชาชาติ(United Nations)

ความสำคัญ การพิจารณาของศาลได้ถูกนำมาใช้ไม่มากนักเพื่อระงับข้อพิพาท และจะมีประสิทธิผลมากเมื่อใช้ระงับข้อพิพาทที่มีความสำคัญไม่มาก

ผู้ที่ให้การสนับสนุนวิธีการพิจารณาของศาลนี้ ได้กล่าวถึงข้อดีของวิธีนี้ว่าศาลสามารถให้คำตอบแก่ปัญหาระหว่างประเทศได้ทุกปัญหา และหากใช้วิธีการนี้จะสามารถระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามรัฐต่าง ๆ ก็ยังลังเลใจที่จะใช้วิธีการพิจารณาของศาลนี้ เพราะการนำคดีไปให้ศาลระหว่างประเทศพิจารณานั้น ตนจะต้องตกลงเป็นการล่วงหน้าว่าจะผูกพันกับข้อคำตัดสินใด ๆ ของศาล ซึ่งอาจจะมีอันตรายต่อผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งของตนได้


ด้วยเหตุที่หลักการแห่งอำนาจอธิปไตยมีความหมายว่ารัฐไม่สามารถจะถูกบังคับให้ไปขึ้นศาลโดยฝืนเจตนารมณ์ของรัฐได้ ดังนั้นรัฐที่ตกเป็นจำเลยมักจะไม่อยากนำคดีไปให้ศาลพิจารณา


อย่างไรก็ตามวิธีการพิจารณาของศาลนี้มีข้อดี คือ ทำให้ไม่เกิดปัญหาเสื่อมเสียเกียรติภูมิของชาติ ทั้งนี้เพราะรัฐที่ยอมรับคำตัดสินของศาลนั้นถือว่าให้การสนับสนุนหลักการบังคับแห่งกฎหมายยิ่งกว่าจะเป็นการสยบจากแรงกดดันของรัฐอื่น


การพิจารณาของศาลอันเป็นเครื่องมือระงับข้อพิพาทอย่างหนึ่งนี้อ่อนกำลังลงในยุคปัจจุบันเนื่องจาก:
1) การพัฒนาเชิงปฏิวัติในเทคโนโลยี
2) ความขัดแย้งระหว่างตะวันออกกับตะวันตก
3) การเกิดขึ้นของรัฐและระบอบการปกครองใหม่ ๆ ที่ปฏิเสธแนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศของฝ่ายตะวันตกที่มีมาแต่เดิมหลายอย่าง

Advisory Opinion :ความเห็นของศาล


ความเห็นของศาล (Advisory Opinion) คือ ความเห็นทางกฎหมายที่ศาลตอบคำถามซึ่งถามมาจากองค์กรที่มีอำนาจแห่งใดแห่งหนึ่ง


วิธีดำเนินการแบบให้ความเห็นของศาลนี้จะแตกต่างจากกระบวนพิจารณาข้อพิพาทสองฝ่าย คือ จะไม่มีคู่กรณีมาปรากฏตัวในศาลในฐานะโจทก์และจำเลย


ความสำคัญ ความเห็นของศาล เป็นการให้ข้อมูลและให้ความกระจ่างทางกฎหมายแต่จะไม่มีผลผูกพันต่อฝ่ายที่ขอความเห็นมานั้น เว้นเสียแต่ว่าฝ่ายที่ขอความเห็นให้ความเห็นชอบในความเห็นของศาล

กฎบัตรสหประชาชาติ (ข้อ 96) ได้ใช้อำนาจแก่สมัชชาใหญ่หรือคณะมนตรีความมั่นคงได้ขอความเห็นของศาลจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice=ICJ) เกี่ยวกับปัญหาทางกฎหมายได้

นอกจากนั้นแล้ว สมัชชาใหญ่ก็ยังได้ให้อำนาจแก่องค์กรและทบวงการชำนัญพิเศษอื่น ๆ ได้ขอความเห็นของศาลเกี่ยวกับปัญหาทางกฎหมายที่เกิดขึ้นภายในของเขตการทำกิจกรรมของตน ๆ ได้

ภายใต้ข้อตกลงเฮดควอเตอร์ (Headquarters Agreement)ปี ค.ศ. 1947 แนวปฏิบัติความเห็นของศาลนี้อาจนำไปใช้กับกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหประชาชาติได้

แม้ว่าเทคนิควิธีความเห็นของศาลนี้จะพร้อมที่จะให้มาใช้ได้ แต่ก็มีการนำไปใช้เพียงประปรายนับแต่ปี ค.ศ. 1946 เป็นต้นมา

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Arbitration:การอนุญาโตตุลาการ


การอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) คือ วิธีดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยทางกฎหมายโดยสันติวิธีแบบโบราณ การอนุญาโตตุลาการมีลักษณะสำคัญหลายอย่างดังนี้
1) มีคอมโพรมิส (Compromis) หรือมีข้อตกลงของคู่กรณีเกี่ยวกับกรณีที่จะระงับตลอดจนรายละเอียดของวิธีดำเนินการที่จะนำมาใช้
2) คณะลูกขุนจะถูกเลือกโดยคู่กรณี
3) การตัดสินจะอิงกฎหมายระหว่างประเทศ และ
4) มีการตกลงกันก่อนว่าการตัดสินของศาลจะมีผลผูกพัน

ความสำคัญ การอนุญาโตตุลาการ มีลักษณะเหมือนกับการตัดสินของศาล คือ เป็นเทคนิควิธีทางกฎหมายเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ เป็นวิธีที่แตกต่างจากวิธีการทางการเมืองซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเจรจาทางการทูตต่าง ๆ เช่น การช่วยเป็นสื่อกลาง(Good offices) การไกล่เกลี่ย (Mediation)การสืบสวน (Inquiry) และการประนอม (Conciliation) การอนุญาโตตุลาการอาจจะเป็นการตกลงกันเฉพาะกิจ(ad hoc) หรืออาจจะเป็นการบังคับหากมีสนธิสัญญา(Treaty)ระหว่างคู่กรณีว่าจะต้องใช้วิธีนี้


ประวัติศาสตร์ได้ทำการบันทึกอนุสัญญาอนุญาโตตุลาการแบบทวิภาคี(Bilateral arbitration treaties)หลายฉบับเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ หลากหลาย การประชุมกรุงเฮก(The Hague Conference) ปี ค.ศ. 1899 ได้วางรูปแบบวิธีปฏิบัติโดยจัดตั้งศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก (Permanent Court of Arbitration at The Hague)


นอกจากนั้นการอนุญาโตตุลาการนี้ยังถูกระบุไว้ในรายการว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยกติกาสันนิบาตชาติ (Covenant of the League of Nations) (ข้อ 13) และโดยกฎบัตรสหประชาชาติ (Charter of the United Nations) (ข้อ 33)


เมื่อปี ค.ศ. 1970 สหรัฐอเมริกาได้ภาคยานุวัติอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการรับรองและการบังคับใช้คำวินิจฉัยของการตุลาการต่างประเทศ(UN Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awars)

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Award:คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ


คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการหรือของศาล หรือของคณะกรรมาธิการเรียกร้องระหว่างประเทศ (Award) ให้จ่ายเงินเป็นค่าสินไหมทดแทนหรือค่าชดเชยให้แก่รัฐ คำวินิจฉัยอาจจะให้คุณแก่บุคคลหรือแก่รัฐบาลของบุคคลนั้นก็ได้ หากคำวินิจฉัยให้คุณแก่รัฐบาล การแจกจ่ายคำวินิจฉัยให้ตกเป็นเรื่องของเขตอำนาจภายใน

การให้ค่าสินไหมทดแทนนี้เป็นวิธีการเรียกค่าเสียหายระหว่างรัฐที่ตัดสินใจใช้เทคนิควิธีทางกฎหมายเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยสันติวิธี ก็จะมีคอมโพรมิส(Compromis) หรือข้อตกลงอนุญาโตตุลาการขั้นต้นก่อน ซึ่งในข้อตกลงนี้จะมีการกำหนดหลักการทั่วไปและหลักเกณฑ์เฉพาะที่ศาลจะนำมาใช้เป็นแนวทางในการให้คำวินิจฉัย ภายใต้หลักการ เรสจูดิคาตา” (res judicata) (คำพิพากษาถึงที่สุด) กำหนดไว้ว่า

คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการนี้ให้ถึงที่สุดและให้มีผลผูกพัน เว้นเสียแต่ว่าคู่กรณีจะยินยอมตกลงกันให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ หรือคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะเนื่องจากศาลฯ ใช้อำนาจเกินกว่าที่ได้กำหนดไว้ในข้อตกลงอนุญาโตตุลาการขั้นต้น

Compromis:ข้อตกลงกำหนดหลักเกณฑ์ประนีประนอมเบื้องต้น

ข้อตกลงกำหนดหลักเกณฑ์ประนีประนอมเบื้องต้น(Compromis) คือข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างคู่กรณีพิพาทเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้สำหรับการอนุญาโตตุลาการข้อพิพาท ข้อตกลงกำหนดหลักเกณฑ์ประนีประนอมจะกำหนดขอบเขตอำนาจของศาลอนุญาโตตุลการดังนี้ 1) ให้คำจำกัดความเรื่องที่พิพาท 2) กำหนดหลักการที่จะนำมาใช้ทางศาล และ 3) กำหนดหลักเกณฑ์วิธีดำเนินที่จะนำมาใช้ในการตัดสินคดี

หากมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลเกิดขึ้น ก็ให้ศาลอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ตัดสินตามกฎเกณฑ์ของข้อตกลงเบื้องต้น (Compromis) อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยหรือการตัดสินของอนุญาโตตุลาการอาจเป็นโมฆะได้หากศาลอนุญาโตตุลาการใช้อำนาจเกินกว่าที่คู่กรณีได้ตกลงเอาไว้ในข้อตกลงเบื้องต้น

ความสำคัญ ในการตัดสินใจให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการนั้น หมายถึงว่า 1) จะต้องเกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศขึ้นมา และ 2) มีความจำเป็นต้องเจรจาในเรื่อง ข้อตกลงกำหนดหลักเกณฑ์ประนีประนอมเบื้องต้นเสียก่อน

ว่าโดยหลักแล้วการอนุญาโตตุลาการจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการทำข้อตกลงกำหนดหลักเกณฑ์ประนีประนอมเบื้องต้นกันเสียก่อน ไม่ว่าการอนุญาโตตุลาการนั้นจะเป็นเรื่องเฉพาะกิจหรือเป็นเรื่องบังคับตามที่ได้กำหนดไว้ในสนธิสัญญาแบบทวิภาคีหรือพหุภาคีที่มีอยู่ก่อน

เมื่อข้อพิพาทเกิดขึ้นมาความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้คู่กรณีพิพาทยากที่ทำความตกลงในข้อตกลงกำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นตามเงื่อนไขของการอนุญาโตตุลาการนั้นได้ ในกรณีเช่นว่านี้การอนุญาโตตุลาการจะกระทำได้สะดวกหากมีสนธิสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างกันอยู่ก่อน ซึ่งอนุสัญญาเช่นนี้จะช่วยแก้ไขในเรื่องวิธีปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่ปรากฏอยู่ในข้อตกลงกำหนดหลักเกณฑ์ประนีประนอมเบื้องต้นได้

Justiciable and Nonjusticiable Disputes:ข้อพิพาททางกฎหมายและข้อพิพาทที่มิใช่ทางกฎหมาย


ข้อพิพาททางกฎหมายและข้อพิพาทที่มิใช่ทางกฎหมาย (Justicialbe and Nonjusticiable Disputes) คือ กฎเกณฑ์ที่เกิดจากมีข้อพิพาทระหว่างประเทศที่แตกต่างกัน เป็นข้อพิพาททางกฎหมายและข้อพิพาททางการเมือง

ข้อพิพาททางกฎหมาย คือ ข้อพิพาทที่ใช้วิธีทางกฎหมายเข้าระงับ กล่าวคือ โดยอนุญาโตตุลาการ และโดยการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ส่วนข้อพิพาทที่มิใช่ทางกฎหมายหรือทางการเมืองนั้นคือ ข้อพิพาทที่ใช้วิธีการทางการเมืองเข้าระงับ คือ 1) โดยการทูตแบบทวิภาคี 2) โดยการใช้สื่อกลาง 3) โดยการไกล่เกลี่ย 4) โดยการสืบสวน และ 5) โดยการประนอม



ความสำคัญ การที่ข้อพิพาทใด ๆ จะเป็นข้อพิพาททางกฎหมายหรือไม่นั้น มิได้ขึ้นอยู่กับลักษณะของข้อพิพาท แต่ขึ้นอยู่กับความสำคัญของประเด็นที่มีต่อคู่กรณีพิพาทที่เกี่ยวข้อง และขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคู่กรณีว่าจะใช้บรรทัดฐานการระงับข้อพิพาทแบบใดในสองบรรทัดฐานนั้น

แนวความคิดของการระงับข้อพิพาทโดยสันติด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการมีลักษณะคลุมเครือในช่วงทศวรรษต้น ๆ ของคริสตศตวรรษที่ 20 ดังจะเห็นได้จากตัวอย่าง คือ 1) มีการตั้งศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (ปี ค.ศ. 1899) 2) มีสนธิสัญญาอนุญาโตตุลาการรู้ท(Root) (ปี ค.ศ. 1908) และ 3) มีสนธิสัญญาอนุญาโตตุลาการทัฟท์น็อกซ์ (Taft-Knox)(ปี ค.ศ. 1911)

อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างระหว่างข้อพิพาททางกฎหมายกับข้อพิพาททางการเมืองเกิดขึ้นก็เพราะว่ารัฐต่าง ต้องการจะหลีกหนีคำตัดสินข้อพิพาททางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเอกราชแห่งชาติและผลประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งของตนนั้นเอง การที่รัฐต่าง ๆ ไม่ต้องการแก้ไขข้อพิพาทโดยทางกฎหมายนั้นไม่ได้หมายความว่าไม่มีกฎหมายที่จะสามารถนำไปใช้กับข้อพิพาทแต่อย่างใด

Permanent Court of Arbitration:ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร

ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration)ในการระงับข้อพิพาทในทางกฎหมาย (Legal Settlement) คือ คณะลูกขุนที่ได้รับการรับรองในระดับนานาชาติ ซึ่งพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาโดยอนุสัญญาเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ที่ได้รับการยอมรับและแก้ไขปรับปรุงโดยที่ประชุมสันติภาพกรุงเฮกปี ค.ศ. 1899 และปี ค.ศ. 1907




คณะอนุญาโตตุลาการที่ประจำอยู่ประกอบด้วยลูกขุนจำนวน 4 คนซึ่งมีความสามารถทางกฎหมายอย่างยอดเยี่ยมที่ได้รับการแต่งตั้งจากภาคีผู้ลงนามแต่ละชาติ คู่กรณีพิพาทแต่ละฝ่ายจะทำการเลือกลูกขุนอีกฝ่ายละ 2 คน ซึ่งในสองคนนี้จะเป็นคนสัญชาติตนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น จากนั้นลูกขุนจำนวน 4 คนที่ได้รับการคัดเลือกจากคู่กรณีพิพาทดังกล่าว ก็จะทำการตัดเลือกลูกขุนคนที่ 5 ให้มาทำหน้าที่เป็นประธานผู้ชี้ขาด จากที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่า ศาลอนุญาโตตุลาการนี้มิได้เป็นศาลประจำแต่อย่างใด แต่เป็นคณะลูกขุนที่ศาลเลือกมาเท่านั้นเอง


คู่กรณีพิพาทจะดำเนินการดังนี้:
1) ค้นหาประเด็นเรื่องที่พิพาทกัน
2) ขีดวงจำกัดอำนาจหน้าที่ของศาล และ
3) ตกลงกันว่าคำตัดสินของศาลที่กระทำภายในขอบเขตจำกัดเหล่านี้จะได้รับการยอมรับว่ามีผลผูกพันตามกฎหมาย



ความสำคัญ คุณค่าสำคัญของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร มิใช่อยู่ที่เขตอำนาจของศาลฯ แต่อยู่ที่เป็นศาลที่มีอยู่ก่อนเกิดข้อพิพาท และเป็นกลไกที่พร้อมจะให้ใช้ตัดสินข้อพิพาทใด ๆ ได้ทันที อย่างไรก็ตามภาคีผู้ลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธีฉบับนี้ ไม่มีพันธกรณีว่าจะต้องใช้บุคลากรและวิธีดำเนินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรนี้แต่อย่างใด คู่กรณีพิพาทจะตัดสินใจเองเป็นกรณี ๆ ไป เพียงแต่พฤติกรรมของคู่กรณีพิพาทจะถูกควบคุมโดยสนธิสัญญาอนุญาโตตุลาการที่มีอยู่ก่อนหรือโดยข้อกำหนดที่ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการที่มีอยู่ในสนธิสัญญาอย่างอื่น



สนธิสัญญาอนุญาโตตุลาการส่วนใหญ่จะเอาอย่างสนธิสัญญาอังกฤษ ฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1903 ที่กำหนดไว้ว่า หากมีความเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับลักษณะทางกฎหมายและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตีความสนธิสัญญา ก็ให้นำไปให้ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรเป็นผู้พิจารณา

ในสนธิสัญญาอนุญาโตตุลาการส่วนใหญ่ ปกติจะไม่ข้องแวะเรื่องต่อไปนี้
1) ผลประโยชน์ที่สำคัญยิ่ง
2) เอกราชหรือเกียรติภูมิของคู่กรณี
3) ผลประโยชน์ของฝ่ายที่สาม

ยกตัวอย่างของทางปฏิบัติของสหรัฐอเมริกา วุฒิสภาของสหรัฐถือว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งที่จะให้มีการอนุญาโตตุลาการภายใต้สนธิสัญญาทั่วไปนั้น เป็นสนธิสัญญาอีกประเภทที่จะต้องขอความเห็นชอบจากวุฒิสภาเสียก่อน ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรกรุงเฮก เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในช่วงแรก ๆ ที่จะสร้างระบบการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธีด้วยวิธีทางการทางนิติศาสตร์ และเป็นศาลนำร่องให้แก่ ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ (Permanent Court of International  Justice =PCIJ)ระหว่างยุคสันนิบาตชาติ   และเป็นศาลนำร่องให้แก่ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice=ICJ) ของสหประชาชาติ

Sanctions:การระงับข้อพิพาทโดยทางกฎหมายโดยการบังคับ

การระงับข้อพิพาทโดยทางกฎหมายโดยการบังคับ (Sanctions)  คือ การระงับข้อพิพาทโดยทางกฎหมาย (Legal Settlement)อย่างหนึ่ง  เป็นบทลงโทษอันเป็นผลจากความประพฤติผิดกฎหมาย


การบังคับในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  คือ ความพยายามร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศที่จะบังคับให้รัฐที่ละเมิดกฎหมายหันมาปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ(International Law) เมื่อเทคนิควิธีทางการทูตและทางการเมืองที่นำมาใช้ระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศประสบกับความล้มเหลว อำนาจหน้าที่ในการใช้การบังคับมีอยู่ในกติกาสันนิบาตชาติ(Covenant of the League of Nations)และในกฎบัตรสหประชาชาติ(Charter of the United Nations)

ความสำคัญ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะไม่มีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ(International Executive)i มาทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เพราะฉะนั้นการบังคับจะเป็นผลขึ้นมาหรือไม่ขึ้นอยู่กับระดับของฉันทามติ(Consessus)ในประชาคมระหว่างประเทศ และขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของแต่ละชาติสมาชิกของระบบรัฐว่าจะยอมรับความรับผิดชอบที่จะส่งเสริมกฎหมายหรือไม่ หากจะให้ทางบังคับนี้เกิดประสิทธิผลขึ้นมาได้นั้น ทางบังคับ(Sanctions)ที่จะนำมาใช้นั้นก็จะต้องสร้างความลำบากให้แก่รัฐผู้ละเมิดยิ่งกว่าความลำบากที่จะเกิดขึ้นกับรัฐผู้ใช้ทางบังคับนี้

บทความที่ได้รับความนิยม